ค้นหานะจ๊ะ

วัฒนธรรมประเพณีอำนาจเจริญ

ชาวอำนาจเจริญมีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของประเพณี อันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสานทั่วไป คือมี ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ หมายถึงประเพณีสิบสองเดือนที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน คำว่า “ฮีต” มาจากคำว่า “จารีต” ส่วนมากมักจะเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก เช่น งานบุญกฐิน งานบุญบั้งไฟ งานบุญข้าวจี่ งานบุญเดือนสิบสอง (ลอยกระทง) งานบุญสรงน้ำ (สงกรานต์) เป็นต้น ส่วน “คองสิบสี่” หมายถึง ครรลองคลองธรรม หรือแบบแผนในการประพฤติ ปฏิบัติ สิบสี่ประการ เช่น ให้ล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน ตื่นแต่เช้ามาใส่บาตร ห้ามเดินเหยียบเงาพระสงฆ์ ให้กราบไหว้บิดามารดา เก็บดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ และหมั่นฟังธรรมทุกวัน เป็นต้น ส่วนด้านวัฒนธรรมของชาวอำนาจเจริญที่มีชื่อเสียงก็คือ การทอผ้าไหม ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เช่น ผ้าไหมบ้านจานลาน ผ้าไหมบ้านสร้อย ที่อำเภอพนา และผ้าไหมบ้านเปือย ผ้าไหมบ้านหัวดง และผ้าไหมบ้านน้ำท่วม ที่อำเภอลืออำนาจ เป็นต้น
นอกจากนั้นที่อำเภอชานุมาน ประชาชนส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวภูไทหรือผู้ไทย ที่อพยพมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวภูไทมีความสามารถในการทอผ้าขิตเป็นพิเศษ การให้สีสันและลวดลายของผ้าจะเป็นเอกลักษณ์ของภูไทโดยเฉพาะ และยังมีดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้าน ได้แก่ หมอลำ ที่มีเนื้อหาในการส่งเสริมการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุข นอกจากนั้นชาวอำนาจเจริญยังมีดำริที่จะฟื้นฟูประเพณีลงข่วง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งของชาวจังหวัดอำนาจเจริญในสมัยเก่าให้เป็นขนบ ธรรมเนียมประเพณีประจำจังหวัด การลงข่วงเป็นการชุมนุมกันของหนุ่มสาว ที่ฝ่ายสาวจะมีกิจกรรมทอผ้า สาวไหม เป็นต้น ขณะเดียวกันพวกหนุ่มๆ ก็จะมาร่วมวงสนุกโดยบรรเลงเพลงพื้นบ้านด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน อาทิ แคน พิณ ประกอบกับกิจกรรมทอผ้า และสาวไหม และที่อำเภอชานุมาน
ประเพณีการแข่งเรือยาว จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีซึ่งมีเรือ จากอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เรือจากอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เรือจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเรือจากอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ มาร่วมแข่งขันเพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรี งานแข่งเรือจัดขึ้นที่บริเวณท่าน้ำ แม่น้ำโขง หน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน ช่วงเช้าและช่วงบ่ายจะเป็นการแข่งเรือส่วนตอนกลางคืนบริเวณที่ว่าการอำเภอจะ มีการออกร้านขายสินค้าและมีมหรสพสมโภชตลอดทั้งคืน


บุญคูนลาน

 
ประเพณีบุญคูณลาน/อำเภอลืออำนาจ/ จังหวัดอำนาจเจริญ เน้นกิจกรรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแห่งข้าว แบบพื้นบ้านอีสานที่สมบูรณ์แบบ และชูให้เป็นงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญของจังหวัด

เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว เมื่อถึงเดือนยี่ หรือเดือนที่ 1 คือเดือนมกราคม ของทุกปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะขนเอามัดรวงข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้ว นั้นไปกองรวมกันไว้ที่ลานเก็บข้าวด้วยมีความเชื่อว่าข้าวนั้นเป็นพืชเลี้ยง ชีวิตที่มีเทพารักษา เทพองค์นั้นมีนามว่า "แม่โพสพ" ซึ่งเป็นขวัญข้าวที่เลี้ยงมนุษย์มา การทำบุญมีพระสวดมนต์เย็น ฉันเช้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าว และผูกข้อต่อแขนกันในหมู่ชาวบ้านผู้ร่วมพิธี
"แม่โพสพ"

มูลเหตุที่ทำ

เนื่องมาจากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จะหาบฟ่อนข้าวมารวมกันไว้ที่ลานนวดข้าว แล้วนำมาวางกองเรียงกันให้สูงขึ้นเรียก คูณลาน ชาวนาที่ทำนาได้ผลเมือต้องการจะทำบุญบำเพ็ญกุศลให้ทาน ก็จะสัดขึ้นที่ลานเป็นสถานที่ทำบุญทำทาน โดยมีญาติพี่น้องมาทำบุญ
นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ปะพรมน้ำมนต์ ขึงด้ายสายสิญจน์ รอบกองข้าว เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้ว
ถวายอาหาร บิณฑบาตร เสร์จแล้วจึงเลี้ยงคนที่มาในงานมีเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ
มีชาวบ้านสองพี่น้องทำนาร่วมกัน เมื่อข้าวเป็นน้ำนมน้องชายอยากทำข้าวมธุปายาส ถวายแด่พระสงฆ์มีพระกัสสปะ
เป็นประธานชวนพี่ชาย แต่พี่ชายไม่ยอมจึงแบ่งนากันทำ พอน้องได้กรรมสิทธิ์ในที่นาแล้ว ก็เอาข้าวในนาของตนทำทานถึง 9 ครั้ง
คือเวลาข้าวเป็นน้ำนม 1 ครั้งเป็นข้าวเม่า 1 ครั้ง เก็บเกี่ยวข้าว 1 ครั้ง จักตอกมัดหนึ่งครั้ง มัดฟ่อนครั้งหนึ่ง กองในลานครั้งหนึ่ง
ทำเป็นลอมครั้งหนึ่ง เวลาฟาดครั้งหนึ่ง ขนใส่ยุ้งฉาง การถวายทานทุกครั้ง น้องชายปรารถนาเป็นพระอรหันต์ ครั้นมาถึงศาสนา
พระโคดมน้องชายได้เกิดเป็นพราหมณ์ นามว่าโกญทัญญะได้ออกบวชเป็นพระภิกษุองค์แรก ได้สำเร็จพระอรหันต์เป็นองค์แรก
ได้รับฐานันดรศักดิ์ที่รัตตัญญู ส่วนพี่ชายได้ถวายข้าวในนาข้าวเพียงครั้งเดียวคือในเวลาทำนาแล้วตั้งปณิธานขอให้สำเร็จเป็นอริยบุคคล
ครั้นมาถึงศาสนาพระโคดมได้มาเกิดเป็นสุภัททปริพาชกบวชในพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระองค์ดับขันธ์ปรินิพพาน ได้เข้าไปทูลถามความสงสัยกับพระองค์ภายในม่าน เวลาจนเทศน์ได้สำเร็จเป็นอนาคามี
เป็นอริยบุคคลองค์สุดท้าย เพราะถวายข้าวเป็นทานมีอานิสงฆ์มากจึงถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

พิธีกรรม

ในการทำบุญคูณลาน จะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน การนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูงเรียกว่า คูณลาน จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวเมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธ มนต์จบแล้วถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงญาติพี่น้อง ผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาในงาน เสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็น
สิริมงคล ในปัจจุบันนี้ บุญคูณลานค่อยๆเลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติ ปฏิบัติกัน ประกอบกับในทุกวันนี้
ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ และมัดข้าวเป็นฟ่อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนา โดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบ และในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องสีข้าว เป็นส่วนมากจึงทำให้ประเพณีคูณลานนี้เลือนหายไป แต่ก็มีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมา กองรวมกัน เรียก "กุ้มข้าวใหญ่" ซึ่งจะเรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ให้เหมาะกับกาลสมัย

ขอขอบคุณ
http://www.lib.ubu.ac.th/html/report.../koonlan-2.htm